นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

คณะกรรมการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ตระหนักดีว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นรากฐานการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและเสริมสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินธุรกิจในแนวทางที่คำนึงถึงความเสี่ยงและความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี

การกำกับดูแลกิจการเป็นความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต มีจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินอย่างมีประสิทธิภาพ มีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผลประกอบการที่ดี ดูแลผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ป้องกันการใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ เปิดเผยข้อมูลด้วยความโปร่งใส ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน มีความเป็นกลางทางการเมือง และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อให้การบริหารจัดการมีการเติบโตอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์การกำกับดูแลกิจการที่ดี

  1. สร้างระบบบริหารจัดการให้มีความโปร่งใส มีมาตรฐานที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยผลักดันให้บริษัทมีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผลประกอบการที่ดี โดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว
  2. สร้างความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิ และมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
  3. สร้างเครื่องมือวัดผลการดำเนินงานที่สามารถตรวจสอบและปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถปรับตัวได้ภายใต้ปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลง
  4. สร้างกรอบความรับผิดชอบของคณะกรรมการและผู้บริหารต่อผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจในขอบเขตที่กำหนดอย่างชัดเจน และป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้น
  5. สร้างกรอบการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัท และยังเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
  6. สร้างระบบการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้อย่างคุ้มค่า ประหยัด และคำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคม และลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท แบ่งออกเป็น 8 หลักปฏิบัติ ดังนี้

ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการในฐานะผู้นำองค์กรที่สร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน

คณะกรรมการบริษัท เป็นส่วนสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีภาวะความเป็นผู้นำ มีวิสัยทัศน์ มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ อุทิศเวลาและปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบด้วยความระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์อันสูงสุดของบริษัท

1.1 บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

กำกับดูแลให้มีการบริหารจัดการองค์กรที่ดี

  1. กำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลักที่ชัดเจนและเหมาะสม รวมทั้งให้มีการทบทวนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  2. กำหนดนโยบายการดำเนินงาน กลยุทธ์ แผนงาน และงบประมาณประจำปี รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรที่สำคัญอย่างเหมาะสมร่วมกับฝ่ายบริหาร และกำกับดูแลการบริหารงานของกรรมการและผู้บริหารให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
  3. กำหนดนโยบายการบริหารด้านการเงิน กำกับดูแลให้บริษัทมีความเพียงพอของสภาพคล่องทางการเงิน มีความสามารถในการชำระหนี้ และมีกลไกการดำเนินงานในกรณีที่ประสบปัญหาทางการเงินได้
  4. กำหนดให้มีการติดตาม ประเมินผลงาน และรายงานผลการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

สร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน

  1. กำหนดจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจเป็นลายลักษณ์อักษร โดยคณะกรรมการต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างในฐานะเป็นผู้นำ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับมีจิตสำนึกด้านจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ
  2. กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นลายลักษณ์อักษร ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และแนวปฏิบัติที่ดีของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมอบหมายให้เลขานุการบริษัทกำกับดูแล ติดตาม และทบทวนแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  3. กำหนดให้มีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมและเพียงพอครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร โดยมอบหมายให้ผู้ตรวจสอบภายในเป็นผู้ติดตามและรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบอย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง รวมทั้งประเมินประสิทธิผลของระบบการควบคุมภายในของบริษัทอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  4. กำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและเพียงพอให้ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร โดยมอบหมายมให้คณะทำงานบริหารความเสี่ยง ปฏิบัติตามนโยบาย ติดตามและรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงอย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง
  5. กำหนดแนวทางในการทำรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท เปิดเผยข้อมูลที่อาจมีความขัดแย้งของผลประโยชน์ให้ถูกต้อง
  6. กำหนดนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อส่งเสริมและปลูกจิตสำนึกให้พนักงานทุกระดับมีความรับผิดชอบต่อสังคม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  7. กำหนดนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อส่งเสริมและปลูกฝังจิตสำนึกให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ ตระหนักถึงผลเสียของการทุจริตคอร์รัปชัน
  8. กำกับดูแลให้มีการสื่อสาร เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับเข้าใจ สามารถปฏิบัติได้จริงตามนโยบายต่างๆ ข้างต้น

กำกับดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย และข้อบังคับ

  1. กำกับดูแลให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดและแนวปฏิบัติที่ดีของสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ฉบับประมวล มาตรา 89/7-89/10 เป็นต้น
  2. กำกับดูแลให้ผู้ตรวจสอบภายในมีหน้าที่ตรวจสอบหรือสอบทานการดำเนินงานของบริษัท ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ติดตามดูแลให้คณะกรรมการและฝ่ายบริหารปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

  1. การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเฉพาะเรื่องตามความจำเป็น เพื่อเป็นผู้ดำเนินการในด้านต่างๆ ให้เรื่องที่มีความสำคัญได้รับการพิจารณารายละเอียดของข้อมูลอย่างรอบคอบ ได้แก่
    (1) คณะกรรมการตรวจสอบ
    (2) คณะกรรมการบริหาร
    (3) คณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี
    (4) คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
  2. กำหนดให้คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อย ต้องจัดทำกฎบัตรคณะกรรมการแต่ละคณะ (Board Charter) ที่กำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการแต่ละคณะอย่างชัดเจน และกำหนดให้มีการทบทวนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  3. การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง ผ่านการพิจารณาสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการกำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบไว้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร
  4. การแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมเป็นเลขานุการบริษัท โดยกำหนดคุณสมบัติ ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเลขานุการบริษัท ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดและแนวปฏิบัติที่ดีของสำนักงาน ก.ล.ต. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  5. บริษัทแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการบริษัท และฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน ดังนี้
    คณะกรรมการบริษัท รับผิดชอบในการกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลักในการประกอบธุรกิจ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นในจรรยาบรรณ รวมทั้งประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ดูแลโครงสร้างองค์กร และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทให้เหมาะสมต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักในการประกอบธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สรรหาพัฒนา กำหนดค่าตอบแทน และประเมินผลการปฏิบัติงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกำหนดโครงสร้างผลตอบแทนที่เป็นเครื่องจูงใจให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักขององค์กร
    คณะกรรมการบริษัท ดำเนินการร่วมกับฝ่ายบริหาร ในการกำหนดและทบทวนกลยุทธ์ เป้าหมายแผนงานประจำปีให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และเป้าหมายหลักขององค์กร การดูแลและทบทวนระบบบริหารความเสี่ยง และระบบควบคุมภายในอย่างเหมาะสมและเพียงพอ กำหนดอำนาจอนุมัติในการดำเนินการที่เหมาะสมกับความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร กำหนดกรอบการจัดสรรทรัพยากร การพัฒนาบุคลากร งบประมาณประจำปีและติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของบริษัท
    ฝ่ายบริหาร รับผิดชอบการบริหารงานประจำวันให้ดำเนินการตามกลยุทธ์ นโยบายและแผนงานตามที่คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติแล้ว โดยมอบหมายให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและฝ่ายบริหาร รับผิดชอบตัดสินใจการดำเนินงานให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของบริษัท โดยไม่แทรกแซงการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่ฝ่ายบริหารนำเรื่องเสนอเพื่อหารือ หรือเพื่อพิจารณา
  6. กำหนดให้ประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นคนละบุคคลกัน โดยกำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบที่แยกจากกันอย่างชัดเจน ดังต่อไปนี้
    บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของประธานกรรมการบริษัท
    (1) ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ทั้งในการประชุมคณะกรรมการบริษัท และการประชุมผู้ถือหุ้น
    (2) กำกับ ติดตาม และดูแลให้มั่นใจว่า การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุตามวัตถุประสงค์ นโยบาย และเป้าหมายหลักของบริษัท
    (3) ดูแลให้มั่นใจว่า กรรมการทุกคนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมองค์กร ที่มีจรรยาบรรณและการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
    (4) ส่งเสริมให้กรรมการมีส่วนร่วมในการใช้ดุลยพินิจที่รอบคอบ และให้ความเห็นได้อย่างอิสระ
    (5) เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกรรมการที่เป็นผู้บริหารและกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร และระหว่างคณะกรรมการบริษัท และฝ่ายบริหาร นอกจากนี้ ต้องดูแลกรรมการมิให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายบริหาร
    บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
    ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีหน้าที่ในการบริหารจัดการประจำวัน ให้เป็นไปตามกลยุทธ์  นโยบาย แผนงาน และงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต ภายใต้กรอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท และติดตามดูแลให้ผู้บริหารระดับสูง และผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน

คณะกรรมการบริษัทกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการที่ชัดเจนและเหมาะสม สามารถใช้เป็นแนวทางให้พนักงานทุกระดับขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งได้กำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจของบริษัท รวมถึงกลยุทธ์และแผนงานประจำปีให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจ เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่กิจการ ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายและสังคมโดยรวม ให้สอดคล้องกับการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน

เสริมสร้างคณะกรรมการที่มีประสิทธิผล

3.1 โครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริษัทถือเป็นแกนนำของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีภาวะผู้นำ มีวิสัยทัศน์ มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ อุทิศเวลาและพยายามอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต บริษัทได้กำหนดโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท เพื่อนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักที่บริษัทกำหนดไว้

3.2 คณะกรรมการชุดย่อย

คณะกรรมการบริษัทมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเฉพาะเรื่องตามความจำเป็น แยกบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย และฝ่ายบริหาร โดยกำหนดระดับอำนาจอนุมัติทางการเงินอย่างชัดเจน เพื่อให้เรื่องที่สำคัญได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนนำเสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการบริษัท

3.3 การพิจารณาสรรหาคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย

หลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาคณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริหารมอบหมายให้คณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีหน้าที่ในการพิจารณาสรรหาและคัดเลือกกรรมการของบริษัท ตามหลักเกณฑ์และกระบวนการที่กำหนดอย่างโปร่งใส และชัดเจนเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท ข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

  1. คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายการให้สิทธิที่เท่าเทียมกันต่อผู้ถือหุ้นทุกรายในการเสนอแต่งตั้งกรรมการรายใหม่เป็นการล่วงหน้า โดยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเสนอแต่งตั้ง ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัท
  2. การแต่งตั้งกรรมการบริษัท ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท และข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับ 1 หุ้น ต่อ 1 เสียง ตามจำนวนหุ้นที่ตนถือ และผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะต้องใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมด เลือกตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ แต่จะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดไม่ได้
  3. คณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี พิจารณาทบทวนโครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อยให้เหมาะสม สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจของบริษัท
  4. คณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาบุคคลอย่างโปร่งใสและชัดเจน
    • พิจารณารายชื่อกรรมการที่ต้องออกจากตำแหน่งตามวาระ และรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัท
    • พิจารณาบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัท ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดและตามข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติที่ดีของสำนักงาน ก.ล.ต. มีประวัติการทำงานที่ดีมีความรู้ทักษะประสบการณ์ และมีความสามารถเฉพาะด้าน ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนองค์กร ไม่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัท
  5. คณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี พิจารณากำหนดแผนสืบทอดงานของกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้บริหารที่มีความสำคัญต่อการดำเนินงานของบริษัท

หลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาคณะกรรมการชุดย่อย

คณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองบุคคลตามหลักการ วิธีการที่ระบุไว้ในข้อบังคับของบริษัท โดยคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณสมบัติตามประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการชุดย่อยในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ หรือในกรณีที่ตำแหน่งดังกล่าวว่างลง เพื่อเสนอรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป

3.4 การพิจารณากำหนดผลตอบแทนคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย

คณะกรรมการบริษัทมอบหมายให้คณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีหน้าที่ในการพิจารณาโครงสร้างและอัตราผลตอบแทนที่มีความเหมาะสมกับความรับผิดชอบ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กรรมการนำพาองค์กรให้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักทั้งระยะสั้นและระยะยาว

3.5 กำหนดความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่และจัดสรรเวลาอย่างเพียงพอ

คณะกรรมการบริษัทกำกับดูแลและสนับสนุนให้มั่นใจว่า กรรมการเข้าใจบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของตนซึ่งบริษัทได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำรงตำแหน่งในบริษัทอื่นของกรรมการที่เป็นผู้บริหาร (กรรมการบริหาร) รวมแล้วไม่ควรเกิน 3 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารรวมแล้วไม่ควรเกิน 5 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยพิจารณาถึงประสิทธิภาพการทำงาน และความทุ่มเทเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ในบริษัทได้อย่างเพียงพอ กำหนดให้กรรมการแต่ละคนควรเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของการประชุมคณะกรรมการบริหารทั้งหมดที่ได้จัดให้มีขึ้นในรอบปี

3.6 นโยบายการลงทุนในบริษัทย่อย/บริษัทร่วม

คณะกรรมการบริษัทกำหนดนโยบายและการดำเนินงานของบริษัทย่อยและกิจการอื่นที่บริษัทไปลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ในระดับที่เหมาะสมกับกิจการแต่ละแห่ง รวมทั้งบริษัทย่อยและกิจการอื่นที่บริษัทไปลงทุน มีความเข้าใจถูกต้องตรงกันด้วย โดยคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมในบริษัทย่อย กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับบริษัทใหญ่ ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยเพื่อสามารถใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำงบการเงินรวมของบริษัทได้ตามมาตรฐานและกำหนดเวลา

3.7 การประเมินผลการปฏิบัติงานตนเองของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อย ทั้งรายคณะและรายบุคคล

คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดหลักเกณฑ์และจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตนเองรายคณะของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย รวมถึงประเมินผลกรรมการเป็นรายบุคคลเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยใช้แบบประเมินตามแนวของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. เพื่อให้ทราบปัญหา อุปสรรคที่เป็นเหตุให้การปฏิบัติงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในระหว่างปีที่ผ่านมา
  2. เพื่อให้การทำงานของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อยมีประสิทธิผลมากขึ้น เนื่องจากได้ทราบถึงความรับผิดชอบของตนได้ชัดเจน
  3. เพื่อให้ทราบแนวทางการใช้ความรู้ ความสามารถ และความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นของคณะกรรมการบริษัท
  4. เพื่อช่วยในการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการบริษัทกับฝ่ายบริหาร

สรุปผลการประเมินการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทแบบรายคณะและรายบุคคล และคณะกรรมการชุดย่อยสำหรับรอบปีบัญชี 2562 ดังนี้

ผลประเมินคณะกรรมการบริษัทรายคณะ

หัวข้อประเมิน ผลการประเมิน (ร้อยละ)
โครงสร้างและคุณสมบัติของกรรมการ 92
บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ 93
การประชุมของคณะกรรมการ 93
การทำหน้าที่ของคณะกรรมการ 95
ความสัมพันธ์กับฝ่ายจัดการ 97
การพัฒนาตนเองของกรรมการและการพัฒนาผู้บริหาร 94
ผลเฉลี่ย 94

ผลประเมินคณะกรรมการบริษัทรายบุคคล

หัวข้อประเมิน ผลการประเมิน (ร้อยละ)
โครงสร้างและคุณสมบัติของกรรมการ 96
การประชุมของคณะกรรมการ 96
บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ 97
ผลเฉลี่ย 96

ผลประเมินคณะกรรมการชุดย่อย

หัวข้อประเมิน ผลการประเมิน (ร้อยละ)
ผลการประเมินของคณะกรรมการตรวจสอบ 100
ผลการประเมินของคณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทน และการกำกับดูแลกิจการที่ดี 99
ผลการประเมินคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง 99

3.8 การอบรมและพัฒนากรรมการบริษัท

การปฐมนิเทศกรรมการใหม่

กำหนดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการใหม่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะการประกอบธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของกรรมการใหม่ ในเรื่องที่ควรทราบ ได้แก่ โครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างกรรมการ โครงสร้างองค์กร ขอบเขตอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของบริษัท รวมถึงให้ความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลัก วิสัยทัศน์ และภารกิจของบริษัท ตลอดจนลักษณะธุรกิจ และแนวทางการดำเนินงาน

การพัฒนาความรู้กรรมการบริษัท

บริษัทส่งเสริมและสนับสนุนให้กรรมการบริษัทได้รับการอบรมสัมมนาหลักสูตรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่จัดขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. หรือองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ปรับปรุงการปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับการพัฒนาความรู้กรรมการและผู้บริหาร ในปี 2562 มีดังนี้

ลำดับ ชื่อกรรมการ ตำแหน่ง ผลการประเมิน (ร้อยละ)
1 ดร.ธรรศ อุดมธรรมภักดี กรรมการอิสระ
  • Strategic Board Master Class (SBM) รุ่นที่ 7/2019 – (IOD)
  • Advance Audit Committee Program (AACP) รุ่นที่ 33/2019 – (IOD)
  • การบริหารจัดการธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน S01- S26 ปี 2562 – ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2 นายพีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา กรรมการบริหาร
  • Corporate Governance for Executives (CGE) รุ่นที่ 15/201
  • นักบริหารกับการจัดทำรายงานความยั่งยืน และการวัด ผลตอบแทนทางสังคม รุ่นที่ 2/62
3 นางสาวขวัญชนก ออละเอี่ยม ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน
  • Chief Financial Officer Certification Program
  • Strategic CFO in Capital Markets Program

3.9 การประชุมคณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้เลขานุการบริษัท มีหน้าที่ในการจัดเตรียมเอกสารประกอบการประชุมอย่างเพียงพอและเหมาะสมส่งหนังสือนัดประชุมไปยังกรรมการอย่างน้อย 5 วันทำการก่อนวันประชุม มีการกำหนดตารางการประชุมและวาระการประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็นการล่วงหน้าทุกปี เพื่อให้กรรมการสามารถจัดเวลาและเข้าร่วมประชุมได้อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้มีการประชุมอย่างน้อยปีละ 6 ครั้ง และมีการประชุมพิเศษเพิ่มเติมตามความจำเป็น ในการประชุมต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะได้เป็นองค์ประชุม

สำหรับการประชุมคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละคณะ จะกำหนดให้มีการประชุมตามความจำเป็นและเหมาะสม มีการกำหนดตารางการประชุม และวาระการประชุมคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละคณะ เป็นการล่วงหน้าทุกปี กำหนดให้เลขานุการคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละคณะ นำส่งเอกสารประกอบการประชุมให้กรรมการและผู้เข้าร่วมประชุมเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วันทำการก่อนการประชุม และต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 จึงจะถือว่าครบเป็นองค์ประชุม

สรรหาและพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและการบริหารบุคลากร

4.1 โครงสร้างการบริหารจัดการ

ผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ผู้จัดการฝ่าย ซึ่งมีบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบในการบริหารงานประจำวันของบริษัท ให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามแผนงาน วัตถุประสงค์ และเป้าหมายหลักทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ผู้บริหารระดับสูงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์การทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของบริษัท มีประวัติการทำงานที่มีจริยธรรมที่ดีงาม มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ว่าด้วย บริษัทมหาชนจำกัด และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องไม่มีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารกิจการของบริษัท

คณะกรรมการบริษัทกำหนดจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแต่ละคนจะไปดำรงตำแหน่งให้เหมาะสมกับลักษณะหรือสภาพธุรกิจของบริษัท ไม่ควรเกิน 3 บริษัทจดทะเบียน โดยพิจารณาถึงประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัท สามารถทุ่มเทเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ในบริษัทได้อย่างเพียงพอ

4.2 การสรรหาผู้บริหารระดับสูง

หลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาผู้บริหารระดับสูง

คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้คณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา แต่งตั้งบุคคล และพิจารณาค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูงของบริษัท มีการกำหนดแผนสืบทอดตำแหน่ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง หรือผู้บริหารที่มีศักยภาพ โดยคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด

4.3 การพิจารณากำหนดผลตอบแทนของผู้บริหารระดับสูงและพนักงานของบริษัท

คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีหน้าที่ในการพิจารณาโครงสร้างและอัตราผลตอบแทนที่มีความเหมาะสมกับความรับผิดชอบ และจูงใจให้ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานของบริษัท นำพาองค์กรให้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของบริษัท เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

4.4 การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารระดับสูงและพนักงานของบริษัท

การประเมินผลการปฏิบัติงานผู้บริหารระดับสูง

คณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี กำหนดให้มีการจัดทำแบบประเมินผลการปฏิบัติงานผู้บริหารระดับสูง มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน 2 ส่วน คือ

  1. ประเมินจากการวัดผลสำเร็จของงาน กำหนดเป็นค่า KPI ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
  2. ประเมินพฤติกรรมหลักที่สำคัญต่อการปฏิบัติงาน และสอดคล้องกับค่านิยมขององค์กร

โดยให้คณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ประเมินผลการปฏิบัติงาน และกำหนดค่าตอบแทนประจำปีของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ก่อนเสนอคณะกรรมการบริษัทพิจารณา ส่วนประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารระดับสูง ตั้งแต่ระดับประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ และผู้จัดการฝ่าย นำเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาต่อไป

การประเมินผลการปฏิบัติงานระดับหัวหน้างานถึงพนักงานปฏิบัติการ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมอบหมายให้ผู้จัดการฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์จัดทำแบบประเมินผลการปฏิบัติงาน ของระดับหัวหน้างาน คือผู้จัดการแผนก และหัวหน้าหน่วย จนถึงระดับพนักงานปฏิบัติการ ที่มีการกำหนดเกณฑ์การประเมินให้สอดคล้องตาม KPI รวมของบริษัท โดยกำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานปีละ 1 ครั้ง

บริษัทกำหนดให้ผู้บริหารระดับผู้จัดการฝ่าย เป็นผู้ประเมินการปฏิบัติงานผู้บริหารในสายบังคับบัญชา ตั้งแต่ผู้บริหารระดับผู้จัดการแผนกและระดับหัวหน้างาน ผู้บริหารระดับผู้จัดการแผนกและหัวหน้างาน เป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานระดับปฏิบัติการในสายการบังคับบัญชา และผู้จัดการฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นผู้สรุปผลการประเมินการปฏิบัติงาน นำเสนอต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารพิจารณาเสนอการปรับขึ้นเงินเดือน

4.5 การพัฒนาผู้บริหารระดับสูง

คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีการปฐมนิเทศผู้บริหารระดับสูงรายใหม่ทุกคน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะการประกอบธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อม โดยมีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นผู้ประสานงานในเรื่องต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้บริหารระดับสูง เข้ารับการอบรม และสัมมนาหลักสูตรต่างๆ ที่จัดขึ้นโดยสมาคมส่งเสริม สถาบันกรรมการบริษัทไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. หรือองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และคุณลักษณะที่จำเป็นในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่กำหนด

4.6 การบริหารทรัพยากรบุคคล

บริษัทให้ความสำคัญต่อการบริหารงานด้านทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจสภาพเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม โดยบริษัทมุ่งมั่นสร้างเสริมความพร้อมของบุคลากรในองค์กรให้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความเป็นอยู่อย่างปลอดภัย ได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน

ส่งเสริมนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ

คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าแก่บริษัท ควบคู่ไปกับการสร้างคุณประโยชน์ต่อลูกค้า คู่ค้า หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ไม่สนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย หรือขัดกับจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของบริษัท

5.1 การสร้างนวัตกรรม

การสร้างนวัตกรรม เป็นการนำสินค้าเดิมมาทำให้เกิดประโยชน์ที่แตกต่างและดีกว่าคู่แข่ง โดยมีการพัฒนาการผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้พลังงานต่ำ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งที่สำคัญคือ การพัฒนาบุคลากรให้มีแนวคิดสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รับมือกับนวัตกรรมที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปได้ สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของบริษัท

สร้างวัฒนธรรมองค์กร เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม

การอบรมพัฒนาบุคลากรให้มีแนวคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรม โดยให้ฝ่ายบริหารนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการทบทวนกลยุทธ์ การวางแผนพัฒนา ปรับปรุงการดำเนินงาน และการติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อบริหารจัดการกับกระบวนการทางนวัตกรรมเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

5.2 จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ

คณะกรรมการบริษัทกำหนดกรอบของจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (Code of Conduct) เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ในการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน ดังนี้ (1) จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อบริษัท (2) จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น (3) จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อพนักงาน (4) จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อลูกค้า (5) จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อคู่ค้า (6) จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อคู่แข่งทางการค้า (7) จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้การค้า (8) จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้สถาบันการเงิน (9) จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อหน่วยงานกำกับดูแลและภาครัฐ (10) จรรยาบรรณว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเน้นเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา และการกีฬา

5.3 การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

การบริหารจัดการด้านพลังงาน

  1. กำหนดให้การอนุรักษ์พลังงานเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของบริษัท เพื่อพัฒนาระบบการจัดการพลังงานอย่างเหมาะสม
  2. ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรพลังงานของบริษัทให้เหมาะสมกับธุรกิจและเทคโนโลยีที่ใช้ รวมทั้งมีแนวทางการปฏิบัติงานที่ดี
  3. กำหนดให้การอนุรักษ์พลังงานเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับของบริษัทให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด
  4. บริษัทจะให้การสนับสนุนที่จำเป็น รวมถึงทรัพยากรด้านบุคลากร ด้านเทคโนโลยี ด้านงบประมาณ ด้านการฝึกอบรม และการมีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพัฒนางานด้านพลังงาน

การบริหารจัดการการจัดซื้อจัดจ้าง

การจัดซื้อจัดจ้างทุกรายการ ต้องได้รับสินค้าและบริการตรงตามความต้องการ ทั้งคุณภาพ ราคา จำนวน เวลาในการให้บริการ ความรวดเร็ว และคำนึงถึงนโยบายด้านคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของบริษัท โดยบริษัทจะไม่เอาเปรียบคู่ค้า การเสนอราคาจะต้องให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับผู้ค้าทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน รักษาความสัมพันธ์กับคู่ค้าในเชิงธุรกิจด้วยความเสมอภาค ไม่เรียกร้องรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากคู่ค้า โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น คำนึงถึงผลประโยชน์และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในด้านชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และภาพพจน์ของบริษัทต่อบุคคลภายนอก

5.4 การบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

  1. กำหนดนโยบายการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และระบบมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
  2. บริษัทมีระเบียบการักษาความปลอดภัยของข้อมูล โดยบริษัทมีมาตรฐานระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในการรักษาความลับ รักษาความน่าเชื่อถือ และความพร้อมใช้ของข้อมูล รวมทั้งป้องกันมิให้มีการนำข้อมูลไปใช้ในการมิชอบ หรือมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว
  3. บริษัทมีการประเมินความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต่างๆ มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกเพื่อการจัดการลดความเสี่ยง
  4. บริษัทให้ความสำคัญในการใช้ระบบสารสนเทศของบริษัทที่เผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะ ต้องยึดมั่นในหลักจรรยาบรรณของบริษัท และให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

5.5 การบริหารจัดการด้านสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

บริษัทมุ่งมั่นในการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) และได้กำหนดให้ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นส่วนหนึ่งของจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (Code of Conduct) บริษัทได้กำหนดนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนี้

  1. มุ่งมั่นที่จะประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม
  2. มุ่งมั่นพัฒนาชุมชนและสังคมโดยรวม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
  3. เคารพกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
  4. ส่งเสริมให้พนักงานมีจิตอาสา และปลูกฝังจิตสำนึกให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนแก่ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
(5.1) กิจกรรมระดับองค์กร : เป็นกิจกรรมที่พัฒนาทักษะของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับและยังเป็นสร้างองค์ความรู้ภายในองค์กร ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการแสดงออกถึงความคิดเห็นต่อองค์กรและเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีภายในองค์กร
(5.2) กิจกรรมระดับชุมชน : เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างแท้จริง ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการด้านการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมที่บริษัทประกอบธุรกิจและสังคมโดยรวม ช่วยเหลือสังคม สนับสนุนการเรียนรู้ และสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม

ดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสม

6.1 การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน

การบริหารความเสี่ยง (Risk Management)

บริษัทมีความมุ่งมั่นในการป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นมีการดำเนินการวิเคราะห์และทบทวนปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจแสวงหาโอกาสภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และติดตามผลการจัดการกับความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจของบริษัท และสร้างความมั่นใจว่าบริษัทมีการบริหารความเสี่ยง ที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย เพื่อบริหารจัดการและลดความเสี่ยง มีการประเมินความเสี่ยงสม่ำเสมอ และกำกับดูแลความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ รวมทั้งมีการติดตามให้มีระบบการบริหารความเสี่ยง อย่างเพียงพอ และเหมาะสม เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานบริหารความเสี่ยงองค์กร ที่ประกอบด้วย ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ และผู้จัดการฝ่ายจากทุกหน่วยงานของบริษัท จำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงในหน่วยงานต่างๆ ขององค์กร ได้รับการติดตามอย่างสม่ำเสมอ

การควบคุมภายใน (Internal Control)

คณะกรรมการบริษัท กำหนดให้บริษัทต้องมีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมและเพียงพอ รวมทั้งการประเมินและติดตามในเรื่องต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยผู้ตรวจสอบภายในที่มีความเป็นอิสระ รายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ยึดแนวทางการตรวจสอบตามมาตรฐานสากลให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัท และเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยบริษัทมีแนวทางในการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

  1. จัดให้มีสภาพแวดล้อมของการควบคุมที่เพียงพอ
  2. จัดให้มีกิจกรรมการควบคุมภายในที่เพียงพอ
  3. จัดให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เพียงพอ เชื่อถือได้ทันเวลา
  4. จัดให้มีระบบการติดตามและประเมินผลอย่างเพียงพอ

6.2 การซื้อขายหลักทรัพย์และการใช้ข้อมูลภายในของบริษัท

กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามข้อห้ามในการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 241

นอกจากนี้ บริษัทกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัท จัดทำและนำส่งรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (แบบ 59) ของตน ของคู่สมรส หรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ถือหุ้นเกินร้อยละ 30 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด ตามแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ดังกล่าวไปยังระบบการรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ฯ ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. (https://www.sec.or.th) หรือแจ้งมายังเลขานุการบริษัท เพื่อแจ้งผ่านระบบดังกล่าวทราบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง

บริษัทกำหนดให้กรรมการและผู้บริหาร รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับทราบข้อมูลภายในที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ฯ จะต้องระงับการซื้อขาย เสนอซื้อหรือเสนอขาย หรือชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อขาย เสนอซื้อหรือเสนอขายหลักทรัพย์ของบริษัทไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในช่วงเวลา 30 วัน ก่อนและจนถึงวันประกาศผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทรายไตรมาสและประจำปี

6.3 การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์

การทำรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางประโยชน์ ต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม และเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงมีการพิจารณาการทำรายการอย่างรอบคอบ และต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองโดยคณะกรรมการตรวจสอบก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติโดยกรรมการที่มีส่วนได้ส่วนเสียต้องไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณา หลังการอนุมัติการทำรายการ ต้องเปิดเผยการทำรายการดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนด

6.4 รายการเกี่ยวโยงกันและรายการเกี่ยวกับการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์

คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดมาตรการและขั้นตอนการอนุมัติรายการเกี่ยวโยงกัน รวมถึงรายการเกี่ยวกับการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินของบริษัท เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยบุคคลที่มีส่วนได้เสียหรือที่อาจจะมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ จะไม่สามารถอนุมัติรายการที่เกี่ยวข้องกับตนได้ การกำหนดราคาหรือค่าตอบแทนจะต้องเป็นไปตามปกติทางธุรกิจและเงื่อนไขทางการค้าทั่วไป ซึ่งต้องผ่านคณะกรรมการตรวจสอบ พิจารณาให้ความเห็นก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริษัท และ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติ และต้องเปิดเผยการทำรายการดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนด

6.5 รายการส่วนได้เสียของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง

บริษัทกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการมีส่วนได้เสียของกรรมการ ผู้บริหาร และบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องให้เป็นไปตามมาตรา 89/14 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารต้องรายงานให้บริษัททราบถึงการมีส่วนได้เสียของตน หรือของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ภายในระยะเวลาและวิธีการที่บริษัทกำหนด ดังนี้

การรายงานครั้งแรก

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของบริษัท (รวมถึงการถือของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) ให้แจ้งไปยังระบบการรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ฯ (แบบ 59) ทางเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. (https:///www.sec.or.rh) ภายใน 7 วันนับแต่วันปิดการเสนอขายหลักทรัพย์ หรือแจ้งมายังเลขานุการบริษัท เพื่อแจ้งผ่านระบบดังกล่าว

การรายงานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง

กรรมการและผู้บริหารสี่รายแรก (รวมถึงการถือของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) ให้แจ้งไปยังระบบการรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ฯ (แบบ 59) ทางเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. (https:///www.sec.or.rh) ภายใน 3 วํนนับแต่วันปิดการเสนอขายหลักทรัพย์ หรือแจ้งมายังเลขานุการบริษัท เพื่อแจ้งผ่านระบบดังกล่าว

6.6 การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

ห้ามคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท และบริษัทย่อยดำเนินการ หรือยอมรับการทุจริต และการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อหาประโยชน์ให้กับตนเอง ครอบครัว เพื่อน คนรู้จัก ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะ เป็นผู้รับผู้ให้ หรือผู้เสนอให้สินบน ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน โดยนโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันนี้ครอบคลุมถึงธุรกิจและทุกหน่วยงานทั้งภายนอกและภายในที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและบริษัทย่อย โดยจะให้มีการประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายการทุจริตและการคอร์รัปชันนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางการปฏิบัติและข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบข้อบังคับของทางบริษัท และข้อกำหนดของกฎหมาย

แนวทางการปฏิบัติ

  1. มาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท ถือเป็นภาระหน้าที่ ที่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับของบริษัทต้องยึดเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินงาน และต้องไม่ละเลยการปฏิบัติตามแนวทางที่ปรากฏอยู่ในคู่มือฉบับนี้ หากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้างต้น และก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัท ให้ถือว่ามีความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท
  2. บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่แจ้งเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชัน ตามที่บริษัทกำหนดไว้ในข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนของผู้มีส่วนได้เสีย
  3. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับของบริษัท ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนด นอกจากนี้อาจจะได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
  4. บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับบุคคลภายนอกที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท หรืออาจเกิดผลกระทบต่อบริษัท ในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้
  5. บริษัทจัดให้มีการสื่อสารนโยบายการต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน ผ่านหลักสูตรการปฐมนิเทศกรรมการ การปฐมนิเทศพนักงาน และการจัดสัมมนาต่างๆ ภายในบริษัทตามแต่โอกาสอันสมควร เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีการปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบในภาระหน้าที่ของตน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปตามหลักจริยธรรม
  6. บริษัทกำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับของบริษัท ได้รายงานโดยสุจริตถึงการปฏิบัติงานที่ขัดหรือสงสัยจะขัดต่อหลักการที่กำหนดในคู่มือต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ใมนกรณีที่มีข้อสงสัยในการปฏิบัติตามหลักการในคู่มือต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันฉบับนี้ สามารถใช้ดุลยพินิจของตนเองก่อนในเบื้องต้น ว่าสิ่งนั้น
    • เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
    • เป็นที่ยอมรับและสามารถเปิดเผยต่อสังคมได้หรือไม่
    • เป็นการทำให้เกิดความเสียชื่อเสียงของบริษัทหรือไม่ หรือสอบถามโดยตรงกับผู้บังคับบัญชา ฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์และเลขานุการบริษัท

6.7 แนวทางการปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

เพื่อความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงกับการเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน บริษัทจึงกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

การเป็นกลางและการช่วยเหลือทางการเมือง :

บริษัทมีนโยบายการเป็นกลางทางการเมือง โดยไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินหรือทรัพยากร หรือการกระทำอันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด ทั้งทางตรงและทางอ้อม

การรับ การให้ของขวัญ ค่ารับรอง ค่าบริการต่างๆ หรือประโยชน์อื่นใด :

บริษัทกำหนดนโยบายว่า “การรับ การให้ของขวัญ ค่ารับรอง ค่าบริการต่างๆ หรือประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมของขนบธรรมเนียมประเพณี ต้องไม่มีมูลค่าเกินสมควร และไม่เป็นการกระทำที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน”

การบริจาคเพื่อการกุศล :

บริษัทกำหนดนโยบายว่า “การบริจาคเพื่อการกุศลของบริษัทต้องพิสูจน์ได้ว่า การบริจาค ได้ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนชุมชน สังคม โดยต้องมีเอกสารหลักฐานชัดเจน ไม่เป็นเส้นทางสำหรับการทุจริตคอร์รัปชัน”

การให้เงินสนับสนุน :

บริษัทกำหนดนโยบายว่า “การให้เงินสนับสนุนต้องพิสูจน์ได้ว่า เป็นการสนับสนุนให้กิจกรรมของโครงการประสบผลสำเร็จ เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจ หรือเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน”

6.8 การแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

บริษัทคาดหวังให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนได้รายงานโดยสุจริตให้บริษัททราบถึงการปฏิบัติงานที่ขัดหรือสงสัยว่าไม่สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงแก้ไขหรือดำเนินการให้เกิดความถูกต้องอย่างเหมาะสม

ขอบเขตการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน

เมื่อมีข้อสงสัย หรือพบเห็นการกระทำที่น่าสงสัยว่าจะฝ่าฝืนการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ ฝ่าฝืนกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของบริษัท ได้รับความไม่เป็นธรรมในการปฏิบัติงาน การกระทำทุจริตคอร์รัปชัน การกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อบริษัท

ช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

  1. ตู้รับข้อร้องเรียนที่ติดตั้งอยู่ภายในบริษัท
  2. หน้าเว็บไซต์ภายในของบริษัท หัวข้อ “การกำกับดูแลกิจการ>ช่องทางการร้องเรียนและกระบวนการจัดการข้อร้องเรียน”
  3. ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการตรวจสอบ คือ
    ดร.ธรรษ อุดมธรรมภักดี
    โทร. 08-1148-6455 หรือ โทรสาร 0-2393-6190
    E-mail: dhas.udomdhammabhakdi@gmail.com

มาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

  1. บริษัทจะปกปิดชื่อ ที่อยู่ หรือข้อมูลใดๆ ที่สามารถระบุตัวของผู้ร้องเรียนหรือผู้ให้ข้อมูล และเก็บรักษาข้อมูลของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ
  2. ในกรณีที่มีการร้องเรียนกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบจะทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูลในการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน อันตรายใดหรือความไม่ชอบธรรม
  3. ประธานคณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจสั่งการตามที่เห็นสมควร เพื่อคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียน พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูลในการสืบสวนหาข้อเท็จจริง
  4. ประธานคณะกรรมการตรวจสอบสามารถมอบหมายงานให้กับผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่แทนในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียน พยาน และบุคคลที่ให้ข้อมูล โดยผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ได้รับแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียน ทั้งโดยทางตรง หรือทางอ้อม

รักษาความน่าเชื่อถือทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล

คณะกรรมการบริษัท มีความรับผิดชอบในการดูแลให้ระบบการจัดทำรายงานทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูลสำคัญต่างๆ ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใส และเท่าเทียมกัน ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ มาตรฐาน และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

7.1 การรักษาความน่าเชื่อถือทางการเงิน

  1. บริษัทกำหนดให้ฝ่ายบัญชีและการเงิน เป็นผู้จัดทำและเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน โดยกำหนดคุณสมบัติให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่เหมาะสมกับหน้าที่ ความรับผิดชอบ และมีจำนวนเพียงพอ โดยบริษัทกำหนดผู้ที่ทำหน้าที่เปิดเผยข้อมูลทางการเงิน ได้แก่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงินและเลขานุการบริษัท
  2. บริษัทให้ความสำคัญในเรื่องความน่าเชื่อถือทางการเงิน ในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน ได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ ดังนี้
    (ก) ผลการประเมินความเพียงพอของระบบควบคุมภายใน
    (ข) ความเห็นของผู้สอบบัญชีในรายงานทางการเงิน
    (ค) ความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบ
    (ง) ความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลัก กลยุทธ์ และนโยบายของบริษัท
  3. บริษัทกำหนดให้มีการบันทึกรายการอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และสามารถตรวจสอบได้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีที่รับรองทั่วไป และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดบบุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องยึดหลักการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความถูกต้องของการบันทึกรายการ รายงานทางการบัญชีและการเงินมีความถูกต้องไม่เป็นรายการเท็จ และพนักงานทุกระดับจะต้องปฏิบัติตามระเบียบ และข้อกำหนดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

7.2 การเปิดเผยข้อมูล

นโยบายการเปิดเผยข้อมูล

การเปิดเผยข้อมูลต่อบุคคลภายนอก ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม ทันเวลา และเพียงพอต่อการตัดสินใจ ผู้ใช้ข้อมูลสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน และมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ผ่านช่องทางที่กำหนด เพื่อปกป้องข้อมูลหลักและข้อมูลที่มีผลต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัท

นโยบายการสื่อสาร

กำหนดให้มีการสื่อสารข้อมูลที่สามารถเปิดเผยได้ตามนโยบายการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นข่าวสารที่จำเป็นอย่างถูกต้อง ชัดเจน ทันเวลา และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยละเว้นการใช้ถ้อยคำหรือรูปแบบที่ไม่เหมาะสม ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด

แนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูล

บริษัทมีนโยบายการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญอย่างถูกต้อง และเพียงพอต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ผ่านทางเว็บไซต์ของทางบริษัท เพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน และปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

ผู้มีอำนาจในการเปิดเผยข้อมูล

บริษัทได้มอบหมายผู้บริหาร เป็นผู้มีอำนาจและทำหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน การแถลงข่าว เผยแพร่ข้อมูล ตอบข้อซักถามของผู้ถือหุ้น นักลงทุน และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ดังนี้

  • ประธานกรรมการ
  • ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  • ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ
  • ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน

ข้อละเว้นในการเปิดเผยข้อมูล

ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับทางธุรกิจ หรือข้อมูลที่หากเปิดเผยแล้ว อาจทำให้เสียประโยชน์ และความสามารถในการแข่งขัน หรือข้อมูลที่ยังไม่มีข้อสรุปหรืออยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัท ในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการเปิดเผยงบการเงินต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งข้อมูลที่เป็นการกล่าวร้ายคู่แข่งทางการค้า

ช่องทางการสื่อสาร

บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้

  • ผ่านทางเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามที่กำหนด
  • บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญ ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท : http://investor.grandprix.co.th
  • ช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ของบริษัท ได้แก่ การประชุมผู้ถือหุ้น การประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) การเข้าร่วมประชุมกับนักลงทุน (Investor Conference), Roadshow, Company Visit และกิจกรรมด้านนักลงทุนสัมพันธ์อื่นๆ ตามความเหมาะสม
  • ผ่านเอกสารการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและการจัดประชุมแถลงข่าว
  • การติดต่อนักลงทุนสัมพันธ์ สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2522-1731 ถึง 8 ext. 309 หรือ E-mail Address : ir@granprix.co.th

7.3 รายงานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

บริษัทดำเนินธุรกิจภายใต้จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ ยึดมั่นในความรับผิดชอบและเคารพต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการบริหารกิจการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามวัฒนธรรมองค์กร ดังนี้

  1. ยึดมั่นการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
  2. เคารพต่อกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม โดยจะบริหารจัดการด้วยความเป็นธรรมและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน
  3. ส่งเสริมให้พนักงานมีจิตอาสา และปลูกฝั่งจิตสำนึกให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
  4. ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนแก่สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอกองค์กร

7.4 การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเผยแพร่ข้อมูล

คณะกรรมการบริษัทส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเผยแพร่ข้อมูล นอกเหนือจากการเผยแพร่ข้อมูลตามเกณฑ์ที่กำหนด และผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว คณะกรรมการบริษัท พิจารณาให้มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บนเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน

สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น

บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของผู้ถือหุ้น และให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้นทุกรายด้วยความเป็นธรรม ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

8.1 การประชุมผู้ถือหุ้น ได้แก่

  • การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น : จัดประจำปีภายใน 4 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัท
  • การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น : จัดเพื่อพิจารณาเรื่องสำคัญเร่งด่วน อันได้แก่ เรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อนดำเนินการ

หนังสือประชุมผู้ถือหุ้น

บริษัทจะดูแลให้มีการส่งหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัทอย่างน้อย 30 วันก่อนการประชุม ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้มีเวลาศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอ ประกอบด้วย (1) วันเวลาและสถานที่จัดประชุมผู้ถือหุ้น (2) วาระการประชุม (3) วัตถุประสงค์ เหตุผล และความเห็นของคณะกรรมการบริษัทในแต่ละวาระที่เสนอ (4) หนังสือมอบฉันทะ (5) ข้อมูลประกอบการประชุมอื่นๆ เช่น ขั้นตอนการออกเสียงลงคะแนน การนับและแจ้งผลคะแนนเสียง เป็นต้น

การจัดประชุมผู้ถือหุ้น

บริษัทส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นทุกรายได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีขั้นตอนการจัดการประชุมผู้ถือหุ้นดังต่อไปนี้

การดำเนินงานก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น

บริษัทนำเสนอข้อมูลที่สำคัญ ข่างสารต่างๆ บนเว็บไซต์ของบริษัท เช่น รายงานงบการเงินประจำไตรมาส งบการเงินประจำปี แบบแสดงข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) รายงานประจำปี (แบบ 56-2) รวมทั้งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น อย่างน้อย 30 วันก่อนการประชุม และให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นในการเสนอวาระการประชุมผู้ถือหุ้นในเรื่องที่เห็นว่าสำคัญ และเสนอรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อแต่งตั้งให้เป็นกรรมการรายใหม่เป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท

การดำเนินงานในวันประชุมผู้ถือหุ้น

บริษัทได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งการลงทะเบียนผู้ถือหุ้น การนับคะแนนและแสดงผลเพื่อให้การดำเนินการประชุมสามารถกระทำได้รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ มีประธานกรรมการบริษัทเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น มีหน้าที่ดูแลให้การประชุมเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และข้อบังคับของบริษัท จัดสรรเวลาสำหรับแต่ละวาระการประชุมได้อย่างเหมาะสม และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นแสดงความเห็นและตั้งคำถามต่อที่ประชุมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบริษัทได้และยังส่งเสริมให้มีบุคคลที่มีความเป็นอิสระเป็นผู้ตรวจนับหรือตรวจสอบคะแนนเสียงให้ที่ประชุมทราบพร้อมทำบันทึกไว้ในรายงานการประชุม

การดำเนินงานหลังประชุมผู้ถือหุ้น

บริษัทได้เปิดเผยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น พร้อมผลการลงคะแนนเสียงในแต่ละวาระอย่างชัดเจน ภายในวันที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือวันทำการถัดไปจากวันประชุมผู้ถือหุ้น โดยแจ้งข่าวผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจัดทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นให้เป็นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วน แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใน 14 วันนับจากวันประชุมผู้ถือหุ้น และเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งจัดทำแบบประเมินคุณภาพการจัดประชุมผู้ถือหุ้น (AGM Checklist) ซึ่งจัดทำโดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย

8.2 การสื่อสารกับผู้ถือหุ้น

บริษัทจัดให้มีเว็บไซต์เพื่อใช้ในการสื่อสารข้อมูลที่สำคัญ ข่าวสารต่างๆ ระหว่างบริษัทกับบุคคลภายนอก เช่น ผู้ถือหุ้นนักลงทุนสถาบัน นักวิเคราะห์ นักลงทุนทั่วไป และเปิดโอกาสให้บุคคลทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและสอบถามข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยข่าวสารต่างๆ ได้มีการกำหนดประเภทข้อมูล เพื่อสื่อสารให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้รับรู้ข้อมูลที่เท่าเทียมกันเพื่อความเหมาะสมในแต่ละกลุ่ม และไม่ทำให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสียเปรียบและเสียโอกาสในการลงทุน ข้อมูลต้องมีความถูกต้องตามความเป็นจริง

8.3 การจ่ายเงินปันผล

คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมหลังหักภาษีเงินได้และเงินทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภทที่บริษัทได้กำหนดไว้ และให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทรวมถึงตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

การประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ในปี 2562 บริษัทได้ปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Coporate Governance Code) ให้เป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นหลักปฏิบัติให้คณะกรรมการบริษัทนำไปปรับใช้ในการกำกับดูแลให้บริษัทสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพธุรกิจ มีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งในปี 2562 มีเรื่องที่บริษัทยังไม่ได้ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

ข้อที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ เหตุผล
บริษัทควรกำหนดนโยบายเกี่ยวกับจำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำ ณ ขณะที่คณะกรรมการจะลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการว่าต้องมีกรรมการอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด เนื่องจากปฏิบัติตาม พ.ร.บ.มหาชน มาตรา 80 ที่ระบุว่า “ในการประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม”
คณะกรรมการควรจัดให้มีการประชุมระหว่างกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร โดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุม บริษัทได้จัดให้มีการประชุมระหว่างกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร โดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วม แต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลและได้กำหนดไว้ในคู่มือกำกับดูแลกิจการที่ดีฉบับใหม่แล้ว
คณะกรรมการควรจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท มากกว่า 6 ครั้งต่อปี ในปี 2562 บริษัทจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท จำนวน 5 ครั้ง ซึ่ง วาระในการประชุมครอบคลุมการดำเนินงาน ในบริษัท และหน้าที่การปฏิติบัติงานของคณะกรรมการได้อย่าง มีประสิทธิภาพเพียงพอ
คณะกรรมการควรเปิดเผยนโยบายค่าตอบแทนของ CEO ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงผลการปฏิบัติงานของ CEO บริษัทยังไม่เปิดเผย